วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

วัดสวยงามในเชียงใหม่


จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะมีที่เที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งภูเขา แม่น้ำ น้ำตก เชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่ประวัติศาสตร์ยาวนาน มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญวัดของเชียงใหม่ ก็มีความสวยงามหลายแห่งทีเดียว Travel Truelife จึงจัดวัดสวย อลังการ ทั่วเชียงใหม่ ที่ต้องแวะไปทำบุญ ไหว้พระ มาให้ได้ชมกัน เที่ยวเชียงใหม่ครั้งหน้าห้ามพลาดเด็ดขาดเลยค่ะ

1.วัดพระธาตุดอยสุเทพ



วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย วัดพระธาตุดอยสุเทพถือเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหารและเป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่โบราณกาล ถ้าหากใครที่มาเยือนเมืองเชียงใหม่แล้วไม่ได้ขึ้นไปนมัสการถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยสุเทพมีบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน ประมาณ 300 ขั้น หรือสามารถใช้บริการกระเช้ารถไฟฟ้า เพื่อขึ้นไปสักการะพระธาตุ ภายในวัดมีเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ซึ่งก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา และจากด้านบนจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้ชัดเจน

2.วัดพระสิงห์วรวิหาร

วัดพระสิงห์วรวิหารเป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนานับแต่อดีต เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อำเภอเมือง วัดพระสิงห์วรวิหารเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ภายในมีพระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง"  อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนาประดิษฐานอยู่
ภายในวัดพระสิงห์วรวิหารยังมีวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ อีกทั้งมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถที่ตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
นอกจากนี้ตามความเชื่อพระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

3.วัดเจดีย์หลวง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร หรือ วัดโชติการาม เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ที่ถนนพระปกเกล้า มีบริเวณกว้างขวาง เมื่อเดินเข้าไปจะพบพระวิหารหลวงทรงล้านนาอยู่ตรงกลาง เจ้าคุณอุบาลี คุณปรมาจารย์และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ภายในประดิษฐานพระประธานพระอัฎฐารส ปางประธานอภัย ตามศิลปะแบบเชียงใหม่ตอนต้น ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ (อินเดีย) ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหารดูงดงามยิ่ง นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ
วัดเจดีย์หลวงวิหารเป็นสถานที่ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดฯ ให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิมและอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเป็นเวลานานถึง 80 ปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภา เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง

4.วัดพันเตา

วัดพันเตา วัดเก่าแก่ใจกลางเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมือง เดิมเป็นเขตสังฆาวาสและพื้นที่หล่อพระอัฎฐารสของวัดเจดีย์หลวง ต่อมาได้สร้างเป็นวัดพันเตา แต่เดิมคนเชียงใหม่เรียกที่นี่ว่าวัด “ปันเต้า” (พันเท่า) อันหมายถึงการที่มาทำบุญเพียงหนึ่งจะได้บุญกลับไปเป็นพันเท่า ภายหลังเพี้ยนเป็น “พันเตา” อีกที่มาหนึ่งน่าจะมาจากการใช้วัดนี้เป็นแหล่งสร้างเตาหล่อพระนับร้อยนับพันเตา จึงได้ชื่อว่า “วัดพันเตา” นั่นเอง 
ภายในวัดแห่งนี้มีพระวิหารที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอาคารเป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ตามศิลปะแบบเชียงแสน เดิมเป็นหอคำหรือคุ้มหลวงที่ประทับของพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 ในสมัยพระเจ้าอินทวิชชานนท์ (องค์ที่ 7)โปรดฯ ให้รื้อหอคำแห่งนี้ถวายให้เป็นพระวิหารของวัดพันเตา นอกจากนี้ยังมีธรรมมาสน์ยกพื้นสูงแบบโบราณอายุกว่าร้อยปีให้ได้ชม ด้านหลังพระวิหารหอคำหลวง เป็นเจดีย์องค์ประธานของวัด ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม รายล้อมด้วยเหล่าเจดีย์รายงดงาม

5.วัดเชียงมั่น

วัดเชียงมั่น ตั้งอยู่ที่ ถ.ราชภาคินัย อ.เมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างเมือง เมื่อ พ.ศ. 1839 พญามังราย ได้ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ช้างล้อม บริเวณพื้นที่หอประทับของพระองค์
พระวิหารของวัดเชียงมั่นมี 2 วิหาร คือ วิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยปัจจุบัน ระหว่างช่องหน้าต่างของวิหารหลังนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีทองบนพื้นแดงงามวิจิตร บอกเล่าเรื่องราวการสร้างเมืองและวัดของพญามังราย ทั้งเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่ สำหรับวิหารเล็ก หรือวิหารจตุรมุข เป็นวิหารเดิมของวัด ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ ส่วนพระอุโบสถมีความสำคัญต่อชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะในโถงด้านหน้ามีศิลาจารึกวัดเชียงมั่น บันทึกเรื่องราวการสร้างเมืองเชียงใหม่และประวัติของวัดแห่งนี้ ตลอดจนการทำนุบำรุงวัดโดยพระราชวงศ์
นอกจากนี้วัดียงมั่นยังมีเจดีย์ช้างล้อมเป็นเจดีย์ประธาน สร้างตามแบบศิลปะล้านนา และยังมีหอไตรกลางน้ำสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ตามคติการสร้างและภูมิปัญญาล้านนา

6.วัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์ ตั้งอยู่ที่ ถ.สุเทพ อ.เมือง สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนาทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดในระหว่าง พ.ศ.1900-2000 แต่เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ
ด้านบนอุโมงค์เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด ส่วนด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 บริเวณวัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เป็นสวนป่าที่เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา ด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เดินเล่นได้ และเป็นสถานที่ดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง

7.วัดสวนดอก

วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง ในอดีตนั้นเป็นสวนดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914  พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งรายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ภายในวัดสวนดอกแห่งนี้ยังมีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เก่าแก่และสวยงามมากมาย เช่นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งเป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง หรือประมาณ 9 พันชั่ง พระพุทธปฏิมาค่าคิงเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง และธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา
นอกจากนี้ที่วัดสวนดอกแห่งนี้ยังมีประเพณีประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกปีได้แก่ ประเพณีทำบุญสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือเดือน 11 ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาแล้วทุกปีและประเพณีทำบุญสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น